Thursday, December 28, 2006

พักปีใหม่ ดูรูปฉลองปีใหม่เล็กๆ กับเด็กหญิงเพลงน้ำ

พักอ่านนวนิยายกันก่อนค่ะ

ใกล้ปีใหม่แล้ว ขอให้นักอ่านทุกท่านมีความสุขมากๆ

แวะไปฉลองปีใหม่ และวันเกิด กับเด็กหญิงเพลงน้ำ พันธุ์พิพัฒน์ มา (เพลงน้ำเกิดวันที่ 1 มกราคม พอดี๊ พอดี)เลยมีรูปบรรยากาศมาฝาก เพลงน้ำก็ป็นลูกสาวคนเดียวของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ (แต่เรวัตร์ ไม่ได้ไปด้วย ชายหนุ่มที่เห็นในรูปไม่ใช่ เรวัตร์ นะคะ อย่าเข้าใจผิด)



คลิกที่รูป เพื่อดูอัลบั้ม

Sunday, December 24, 2006

โลกของเจ้าตัวเล็ก(2)

โลกของเจ้าตัวเล็ก (2)
ชมัยภร แสงกระจ่าง
(สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย)
ซีเซ็กฉ่ายมาเอง


โลกของเจ้าตัวเล็ก(2)
สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย


ซีเซ็กฉ่าย

อาจเป็นเพราะพี่เครากับน้องนวลวางแผนครอบครัวไว้ว่ายังไม่วางแผนครอบครัว ดังนั้น บ้านหลังเล็กยังไม่มีเจ้าตัวน้อย เพื่อนบ้านแสนซื่อแต่ชอบแอบดูที่ริมรั้วก็มักอวดลูกสาววัยสองขวบโดยการยกชูขึ้นริมรั้ว แล้วสอนให้ตะโกนเรียกพี่เคราว่า
“สวัสดี คุณอาเคราหน่อยสิคะ..ลูกมอลลี่”
เด็กหญิงมอลลี่ก็จะหวีดร้องด้วยความตกใจ เพราะพี่เคราผู้ชอบแกล้งทั้งคน สัตว์ ต้นไม้และสิ่งของก็จะเตรียมทำหน้าโหดเหี้ยมที่สุดเอาไว้หลอกเด็กหญิง แต่พอคนยกชูลูกโผล่ตามมาดูก็จะพบหน้าพี่เครายิ้มแฉ่งราวกับแป๊ะยิ้ม เธอก็จะเล็งเห็นความอิจฉาริษยาสุดขีดของนายเคราที่ตนไม่สามารถทำลูกได้ ดังนั้นเธอก็จะเยาะเย้ยด้วยประโยคที่ยิ้มพรายว่า
“เมื่อไหร่จะมีลูกเสียทีล่ะ คุณอาเครา” เธอเรียกอาตามที่พยายามสอนลูกสาวของเขาเอง

น้องนวลเดือดร้อนนักเพราะดูเหมือนจะเป็นความผิดของเธอที่ไม่มีลูกไวดั่งใจนึก วันหนึ่ง เมื่อหมาแม่ลูกอ่อนหน้าโรงเรียนอนุบาลเผลอคลอดลูกออกมา ๗ ตัว น้องนวลก็แสดงความรับผิดชอบโดยการหิ้วกลับมาเลี้ยงที่บ้านหนึ่งตัว เป็นหมาลายด่างสีน้ำตาลขาว พอพี่เคราเห็นหมาน้อยเข้าเท่านั้นก็ลงทุนแกล้งหมาเป็นการใหญ่ แกล้งวิ่งไล่ แกล้งตะโกนใส่ เลื่อนชามข้าวหนี ดีดหู ดึงหาง ยกขา ยืดหาง จนในที่สุดก็ลงนอนหอบแฮกด้วยกันทั้งคนและหมา

“ชื่ออะไรดีล่ะ” ฝ่ายภรรยาปรึกษา “น้ำตาลดีไหม”
สามีส่ายหน้า
“บราวนี่..”ภรรยาเสนออีก แต่สามีก็ยังส่ายหน้า
“ก้อนแก้ว ก้อนกรวด กาแฟ โกโก้ ดอกไม้ ..”
สามีไม่พยักหน้ารับเลยสักชื่อเดียว ภรรยาลงนั่งที่เก้าอี้ มองดูเจ้าตัวสีน้ำตาลขาววิ่งไปวิ่งมาอย่างเอ็นดู เดาะปากเรียกแล้วออกคำปรึกษาหมา
“ว่าไง แกอยากชื่ออะไรเอ่ย..”
ทันใดนั้น ก็มีเสียงเบา ๆของพี่เคราดังขึ้น “ชื่อซีเซ็กฉ่าย..”
น้องนวลหัวเราะคิกด้วยความเอ็นดูสามี ทำตาหวานเจ้าชู้เข้าใส่ “จริงน่ะ” สามีพยักหน้า ภรรยาก็พยักหน้าตา
เจ้าหมาตัวเล็กจึงกลายเป็นหมาสัญชาติจีน มีชื่อซีเซ็กฉ่าย เสียงเรียกเต่าหนึ่งและปาดอีกหนึ่งว่าน้ำฝนหนึ่งและน้ำฝนสองก็ค่อย ๆ หายไปจากหูของเพื่อนบ้าน หากแต่กลับเป็นชื่อใหม่ที่ฟังแปลกหูยิ่งกว่า
“ซีเซ็กฉ่าย ซีเซ็กฉ่าย”
เพื่อนบ้านเอียงหูฟัง นึกว่าผัวหนุ่มเมียสาวอยากกินข้าวต้ม แต่เสียงเรียกนี้ไม่มีเวลาตามกาละ ไม่มีเช้า ไม่มีสาย ไม่มีบ่าย และไม่มีเย็น มันดังสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน เพื่อนบ้านจึงตัดสินใจแอบโผล่หัวขึ้นมาข้างรั้วในเวลาที่พี่เครากับน้องนวลไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดในหมู่บ้าน พอเห็นลูกหมาลายสีน้ำตาลขาววิ่งอยู่ก็ร้อง “โธ่เอ๊ย..” ออกมาดังลั่น

ซีเซ็กฉ่ายเป็นหมาที่รับวัฒนธรรมความเป็นหมามาโดยสมบูรณ์ พอเห็นของแปลกโผล่ขึ้นที่ข้างรั้วเท่านั้น มันก็เห่าระงมระเงก แต่เผอิญว่าเป็นเจ้าตัวเล็กที่มีอายุเพียงสองเดือน ดังนั้น เสียงอันระงมนั้นจึงได้ยินไปไกลไม่กี่รูหู แต่ผ่านไปอีกเพียงเดือนเดียว หมาตัวเล็ก ๆก็กลายเป็นหมาตัวอ้วน ๆ และกัดกินทุกอย่างไม่เลือกหน้า
“ซาดิสต์นี่หว่า” พี่เคราว่า
“จริงเหรอ” น้องนวลทำหน้าสงสัย “ทำไมรู้”
“ก็เราเป็นมาก่อน” สามีตอบเสียงกลั้วหัวเราะ “บ้า” ภรรยาร้อง แล้วสองคนก็หัวเราะกันคิกคัก เพื่อนบ้านผู้เงย ๆก้ม ๆอยู่ข้างรั้วนิ่งฟัง ได้ยินคำว่า “ซาดิสต์”แล้วคิดเอาว่า เออหนอ คนสมัยใหม่นี่เขาไม่ยักกะกลัวซาดิสต์เนาะ

ซีเซ็กฉ่ายแสดงอาการซาดิสต์ของหมาวัยสามเดือนได้อย่างสมบูรณ์แบบ คล้ายกับเด็กอนุบาลที่เพิ่งจะโผล่หน้ามาเห็นโรงเรียน ดังนั้น บริเวณหน้าโรงเรียนที่เป็นบริเวณที่เห็นก่อนจึงถูกแทะ แคะ ทึ้ง ดึง เกา กัด ฟัด และเฟ้นฟอนกันทั่วหน้า ต้นโมกพวงที่ใส่ถุงดำตั้งไว้ยังไม่ทันจะลงดินกลิ้งโค่โล่ ต้นโมกน้อยถูกสลัดดินออกจนเกลี้ยงเกลา สร้อยฟ้าไม้เถาดอกสีม่วงที่ได้มาใหม่ก็หอมดินปุ๋ยเหลือกำลังจนเจ้าซีเซ็กฉ่ายอดรนทนไม่ได้ ช่วยสับทึ้งเป็นท่อน ๆด้วยฟันคมซี่เล็ก ๆ สองครั้งแรกที่หัดกัดต้นไม้ พี่เคราก็ช่วยเฉลิมฉลองด้วยการเอาไม้เรียวที่ทำจากต้นไม้ในบ้านมาไล่ตีเจ้าซีเซ็กฉ่ายไปรอบ ๆบ้าน เจ้าซีเซ็กฉ่ายเป็นหมาประหลาดที่เวลาโดนตีมันจะออกลูกอึด ร้องอู้ด ๆ แล้ววิ่งนำหน้าพี่เคราลอดเลื้อยไปตามช่องเล็ก ๆ ทำให้พี่เครากวาดสายตาตามไม่ทัน เลยต้องใช้เสียงเข้าช่วย แต่ต้องวิ่งไปด้วย คำรามขู่ไปด้วย
“ไอ้ซีเซ็กฉ่าย มึงนี่ซาดิสม์แม้กระทั่งต้นไม้”
แต่เนื่องจากด่าไปวิ่งไป เสียงจึงขาด ๆ หาย ๆ กระท่อนกระแท่น แถมยังไกลหูเพื่อนบ้านอีก เวลาเสียงวิ่งไปกระทบหูเพื่อนบ้านที่หาเรื่องอยู่แล้ว เสียงจึงดังเป็นอย่างนี้
“เซ็ก ๆ ฉึ ๆ ๆ มั้ย ๆ”
เพื่อนบ้านที่ทำท่าจะโผล่หัวขึ้นมาเหนือรั้วรู้สึกละอายแทน ที่บ้านนี้มีแต่เรื่องเซ็กส์ ๆ ก็เลยไม่กล้าคุยกับพี่เครากับน้องนวลไปสามวัน
ส่วนเจ้าซีเซ็กฉ่ายก็หยุดกัดต้นไม้ไปสามนาที หลังจากนั้นก็หันไปหาของเล่นอื่น ๆ อันได้แก่ไม้กวาดเล็ก ๆที่น้องนวลเอาไว้ปัด ๆ แถวม้านั่ง กะลามันขลับที่มาจากหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล กล่องพลาสติกเล็ก ๆ ที่เดิมเคยใส่ของกระจุกกระจิก หรือแม้กระทั่งผ้าผูกผมของน้องนวลที่ลืมวางพาดไว้บนพนักเก้าอี้กลางแจ้ง
“ปากหมานะ”น้องนวลบ่น “ทำไมปากหมานัก”

วันหนึ่งน้องนวลกับพี่เคราเข้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต และเห็นส่วนที่เป็นของเล่นสัตว์เลี้ยง จึงไปยืนเลือก ๆ ดู เจอของเล่นหมาเวลาคันฟัน จึงตัดสินใจซื้อกบตัวเล็ก ๆที่ดังเอี๊ยดอ๊าดมาหนึ่งตัว สีเขียวอื๋อ
“เผื่อเป็นเพื่อนน้ำฝนสองด้วย” น้องนวลว่า “ไม่รู้มันหายไปไหนนะ ทั้งสองตัวเลย”
กบเขียวอื๋อที่ดังเอี๊ยด ๆ เรียกความสนใจจากซีเซ็กฉ่ายได้เพียงสามนาทีเช่นกัน กบก็กระเด้งกระเด็นหายไปในกอต้นไม้ ซีเซ็กฉ่ายเข้าไปรื้อค้นหาของเล่นใหม่เป็นการใหญ่ด้วยอาการเมามัน เสียงดังฮึ่ด ๆ ๆ ๆ ฮั่ม ๆ ๆ ๆ
ชั่วเวลาไม่ถึงสิบห้านาที ซีเซ็กฉ่ายก็ค้นเจอน้ำฝนสอง น้องนวลเป็นคนเห็นภาพตอนซีเซ็กฉ่ายกำลังไล่ตามปาดตัวเล็ก ๆ ดีดผึง ๆไปรอบบ้าน จึงออกวิ่งไล่ตาม “ช่วยมันหน่อยเร้ว ๆ พี่เคราเร้ว ช่วยน้ำฝนสองหน่อย ช่วยน้ำฝนสองหน่อย” พี่เคราก็เลยวิ่งตามน้องนวลอีกทีหนึ่ง คราวนี้เพื่อนบ้านโผล่หัวออกมาดูเพราะเสียงอันโกลาหล พอเห็นหมาวิ่งนำหน้า(แต่ไม่รู้ว่าอะไรนำหน้าหมา) ตามด้วยคนสองคน เพื่อนบ้านก็เข้าใจว่าหมาวิ่งไล่พี่เครา และน้องนวลวิ่งไล่หมา เพื่อนบ้านจึงหันไปรำพึงกับหนูมอลลี่ว่า
“อ้อ..หมามันชื่อน้ำฝนสองด้วยนะลูก”

----------

Sunday, December 17, 2006

โลกของเจ้าตัวเล็ก (ตอนที่ 1)


โลกของเจ้าตัวเล็ก (ตอนที่ 1)

ชมัยภร แสงกระจ่าง
<<สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย>>



เรื่องของน้ำฝนหนึ่งและสอง...

สองหนุ่มสาวเพิ่งจะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านโครงการใหม่ ฝ่ายชายมีท่าทางเป็นอาร์ทิสต์ ไว้ผมยาว มีเคราบ้างไม่มีเคราบ้างตามอารมณ์ ส่วนฝ่ายหญิงออกจะสดใสร่าเริง ออกอาการชอบจัดการโน่นนี่และช่างพูด สมกันดีกับฝ่ายชายที่เอาแต่ยิ้มและออกไปทางเชื่องช้า บ้านหลังเล็ก ๆ เป็นรังรักของครอบครัวใหม่ ฝ่ายชายชื่อพี่เครา ฝ่ายหญิงชื่อน้องนวล

ทั้งคู่เริ่มต้นด้วยการย้ายต้นไม้เข้ามาก่อน โยเริ่มจากต้นกล้วยพัดที่โบกใบไหว ๆอยู่ริมรั้ว เพื่อนบ้านที่มาอยู่ก่อน ทักข้ามรั้วมาว่า “เอ๊ะ..กล้วยอะไรคะนี่ มีลูกกินได้หรือเปล่า”
น้องนวลหัวเราะคิก ในขณะที่พี่เคราเป็นคนตอบ “เอาไว้พัดครับ ไม่ได้เอาไว้กิน”
เพื่อนบ้านยืนงงอยู่พักหนึ่งแล้วค่อย ๆ หดหัวหายไป

อีกสามวันต่อมาพี่เคราก็เอาต้นมะม่วงต้นเล็ก ๆมาลง ตามมาด้วยต้นปาล์มไม้ประดับใหญ่โขอยู่ เพื่อนบ้านสงสัยอีกว่า ทำไมต้นไม้ที่ต้นใหญ่จึงเป็นไม้ประดับ แต่ต้นไม้ต้นเล็ก ๆ กลับเป็นไม้ผล หลังจากคันปากอยู่หลายชั่วโมง ในที่สุดเขาก็ถาม ก็ได้คำตอบมาจากพี่เคราว่า
“เอาไว้ให้สงสัยครับ ไม่ได้เอาไว้กิน”
เพื่อนบ้านก็หดหัวหายไปหลายวัน

หลังจากนั้นพี่เคราก็เอาไม้เล็กไม้น้อยไม้ย่อยไม้ยิบมาลงจนเต็มไปหมด บางต้นก็มีดอก บางต้นก็ไม่มีดอกจนสวนหน้าบ้านที่มีเนื้อที่ไม่มากนักรกครึ้ม พอสวนสวยพี่เครากับน้องนวลก็ย้ายเข้ามาอยู่ ซ่อนตัวและซ่อนชีวิตคู่ไว้หลังไม้ครึ้มนั้น เพื่อนบ้านยืดคอขึ้นมาเหนือรั้วและพยายามสอดส่อง แต่ก็ไม่เป็นผลอันใด
วันหนึ่งเมื่อฝนตกหนัก เต่าน้อยตัวหนึ่งขนาดสักฝ่ามือเด็กเล็ก ๆต้วมเตี้ยมขึ้นมาตามฝน พี่เคราเป็นคนเห็นก่อน เขาชี้ให้ภรรยาดูแผ่นกลม ๆที่กระดื๊บ ๆอยู่กลางสายฝน “เต่า ๆ..” เขาร้อง ภรรยาตื่นเต้นร้องอุ๊ย ๆ แล้วก็หันมาไล่เขาให้ไปจับเต่ามา พี่เคราเป็นคนชอบเล่นสนุกอยู่แล้ว ก็จับเต่าน้อยที่ดูคล้ายของเล่นในตู้โชว์มาเล่น
เต่าน้อยหดหัวเมื่อเห็นภัยมาสู่ตัว พี่เคราหัวเราะ น้องนวลก็ชอบอกชอบใจ สองสามีภรรยาตั้งชื่อเต่าน้อยว่า “น้ำฝน” แล้วก็เอาเต่าน้อยไปปล่อยไว้ที่โคนกอปักษาสวรรค์ พร้อมกับเอากะละมังใส่น้ำให้ด้วย

พี่เคราทำงานธนาคาร น้องนวลสอนโรงเรียนอนุบาล พอตกเย็นพี่เคราก็ขับรถฟอร์ดคันเล็ก ๆ ไปรับน้องนวลกลับบ้าน พอมีเต่ามาอยู่ด้วย เมื่อถึงบ้านสองหนุ่มสาวก็รีบไปดูเต่า ซึ่งถือเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรกในบ้าน
“น้ำฝน ๆ” น้องนวลเรียกเต่า เดาะปากราวกับเรียกหมา “ดิ ๆ ๆ ๆ”
น้ำฝนไม่ใช่หมา จึงไม่ออกมาตามเสียงเรียก พี่เคราไปเที่ยวมุดอยู่ตามกอไม้ต่าง ๆ หาน้ำฝน “น้ำฝน ตุ๊ย ๆ ๆ ๆ “ เขาคิดวิธีเรียกเต่าขึ้นมาเอง
ด้วยเหตุบังเอิญหรือเหตุอะไรไม่มีใครทราบได้ อยู่ ๆ น้ำฝนก็โผล่หน้าขึ้นมาตามเสียงเรียก ไม่ใช่เธอเดินมาตามเสียง แต่เธอยืนอยู่(หรือความจริงอาจนั่งและอาจนอนอยู่ก็ได้ ไม่มีใครสามารถอธิบายท่าสามัญ(ประจำบ้าน)ของเต่าได้ น้ำฝนโผล่หัวออกมาจากหลังคาอันน้อย ๆ แล้วส่ายหัวไปมา พี่เคราที่กำลังยื่นหน้าเขม้นมองอยู่ สะดุ้งนิดหนึ่ง เพราะเห็นความเคลื่อนไหวนั้นโดยบังเอิญ
“โอ้ย..”พี่เคราร้อง “นวล ๆมันอยู่นี่”
“ใครอยู่..”น้องถาม
“น้ำฝน” พี่เคราตอบ
“เหรอ..”น้องนวลรีบกระวีกระวาดมาตามเสียงเรียก แล้วสองสามีภรรยาก็มายืนดูเต่าน้อยด้วยกันอยู่หน้าบ้าน มีเสียงเรียก “น้ำฝนจ๋า ๆ” ทำให้เพื่อนบ้านพลอยตื่นเต้นไปด้วย เพราะไม่รู้ว่าตัวน้ำฝนนั้นมันคืออะไร ครั้นจะถามดูอีกก็กลัวได้คำตอบแบบที่พี่เคราชอบตอบ จึงได้แต่เงี่ยหูฟังและจินตนาการไปเอง
น้ำฝนปรากฏตัวให้สองสามีภรรยาเห็นอยู่สามวัน พอวันที่สี่เกิดฝนตกหนัก น้องนวลเริ่มเป็นทุกข์ “เดี๋ยวน้ำฝนหนาว..” เธอบอกสามี ทำหน้าจริงจัง
“มันไม่หนาวหรอก..”สามียืนยัน นัยน์ตายิ้มระยิบ “แต่มันจะเป็นหวัด”
“บ้า ๆ”แล้วสองสามีภรรยาก็หัวเราะกันคิกคัก พอฝนหาย ทั้งสองคนก็ออกมาเดินท่อม ๆ หาน้ำฝน พร้อมส่งเสียงเรียก “น้ำฝน ๆ ๆ ๆ วู้ ๆ” เพื่อนบ้านยิ่งงงหนัก ที่เข้าใจว่าเป็นหมาเป็นแมวก็ดูน่าจะผิดไป
“เป็นหวัดตายไปแล้วละ”สามีบอกภรรยา ทำหน้ายิ้ม ๆ
น้องนวลก้ม ๆ เงย ๆอยู่พักหนึ่งก็ร้องกรี๊ด “โอ๊ย ๆ ๆ” ภรรยาสาววิ่งหนีเข้าไปยืนเต้นอยู่ในบ้าน สามีเดินมาถาม “อะไร”
น้องนวลยังเต้นอยู่ เพื่อนบ้านต่อย ๆยืดคอขึ้นมา สามีเดินเฉียดรั้วไป เพื่อนบ้านค่อย ๆ หดหัวลง
“อะไร” สามีถามอีก เริ่มเป็นกังวลว่าภรรยาอาจเห็นงู
“กบมั้ง” น้องนวลตอบ ปากคอสั่น
พี่เคราไปด้อม ๆมองอยู่พักหนึ่ง เขาก็หิ้วปาดตัวสีเหลืองอ่อน ขายาวโกงโก้ออกมาหนึ่งตัว ยืนไปตรงหน้าภรรยาที่ยืนหลับตาปี๋ร้องว่า “ไม่เอา ๆ ๆ ”
“ปาด ไม่ใช่กบ..”สามีว่าแล้วก็เอาปาดเกาะแขนเดินไปรอบ ๆบ้าน น้องนวลเริ่มเดินตาม นาน ๆครั้งจึงค่อย ๆเอามือเข้ามาจิ้มตัวดู
“ชื่ออะไรดี..”
“น้ำฝนสอง”
สัตว์เลี้ยงตัวที่สองในบ้านไม่สนใจชื่อน้ำฝนสองที่ได้รับการขนานนาม หากดีดตัวผึงเดียวจากแขนของเจ้าของบ้านชายไปเกาะติดอยู่ที่ข้างฝา เสียงน้องนวลร้องกรี๊ด ๆ ผสานเสียงหัวเราะ “ตกลงให้มันชื่อน้ำฝนสองนะ”

เพื่อนบ้านจึงได้ยินเสียงน้ำฝนหนึ่ง น้ำฝนสองระงมไป นับเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ต้องซื้อหาอาหารให้ เดือนแรกที่ได้มาอยู่บ้านใหม่ น้ำฝนหนึ่งกับน้ำฝนสองจึงถือเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านไปโดยปริยาย ทั้งที่เจอครั้งแรกแล้วก็ไม่ได้เจอครั้งที่สองอีกเลย หรือบางทีเจอครั้งใหม่ตัวใหม่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเดิมที่โตขึ้น เปลี่ยนไป หรือว่าเป็นตัวใหม่

“เลี้ยงง่ายดีนะ”พี่เคราว่า น้องนวลเอออ
ในขณะที่เพื่อนบ้านก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าน้ำฝนหนึ่งกับสองเป็นตัวอะไร

-----------

Thursday, December 14, 2006

มาแล้วจ้า... นวนิยายพิเศษเฉพาะชาวบล็อก...โลกของเจ้าตัวเล็ก

หนูยังรอคอยด้วยใจระทึก ระทึก ระทึก เลยนะค้า....................
ป้าอี๊ดเขียนเร็วๆ นะค้า................
เย้ๆๆๆ มาแย้วววววววววววว

Monday, December 4, 2006

ประวัติชมัยภร แสงกระจ่าง


ชมัยภร แสงกระจ่าง
ไพลิน รุ้งรัตน์


ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เกิดเมื่อปี ๒๔๙๓ ที่จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาชั้นประถมและชั้นมัธยมต้นที่จังหวัดจันทบุรี แล้วจึงมาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท กรุงเทพฯ และสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๑ ในปี ๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

เป็นคนสนใจการอ่านมาแต่เยาว์วัย เพราะแม่เป็นครู พ่อชอบเขียนกลอน สนใจการอ่านทั้งคู่ ในบ้านมีหนังสือ
นวนิยายและสารคดีเป็นจำนวนมาก เมื่อเรียนชั้น ม.ศ.๓ ได้ครูภาษาไทยกระตุ้นเร้าการอ่านการเขียน ทำให้หัดเขียนเรื่องสั้นไปลงชัยพฤกษ์ เมื่อเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ สนใจกิจกรรมชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมวรรณศิลป์ เมื่อเรียนชั้นปีที่ ๔ และในปีเดียวกันนั้นได้เรียนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์กับอาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้ลงมือเขียนบทวิจารณ์ งานวิจารณ์ชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ในอนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ คือ บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นและบทกวีชื่อ ความเงียบ ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ต่อมาเมื่อเรียนจบหันมาสนใจการเขียนเรื่องสั้น เขียนไปลงสตรีสารได้สองสามเรื่อง อาจารย์ชลธิรา (สัตยาวัฒนา) กลัดอยู่ ก็ได้ชวนไปเขียนบทวิจารณ์ในนิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ ใช้ชื่อ ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนอยู่ประมาณ
๑ ปีก็เลิกเขียน ต่อมาได้ช่วยเขียนบทวิเคราะห์ให้ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ในการจัดนิทรรศการวรรณกรรมแนวประชาชน ในปี ๒๕๑๘ และผลงานนั้นได้รวมเล่มเป็น วรรณกรรมแนวประชาชน ใช้นามปากกาว่า นศินี วิทูธีรศานต์ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามใน ๑๐๖ รายการของคณะปฏิวัติ

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ประมาณปี ๒๕๒๑ สิทธิชัยและชมัยภร แสงกระจ่าง ได้จัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมพินิจขึ้น เป็นการรวมตัวของชาววรรณศิลป์ จุฬาฯ ประมาณ ๑๕ คน และได้มีการอ่านเรื่องสั้นและบทกวีในรอบปีที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ ในรอบปี และคัดเลือกขึ้นมาประกาศเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประจำปี คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยขอให้กลุ่มเขียนเป็นบทรายงานสั้น ๆ ลงนิตยสารโลกหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง กลุ่มวรรณกรรมพินิจได้คัดเลือกเรื่องสั้นอยู่ ๒ ปี ก็เลิกรากันไปเพราะคนในกลุ่มออกไปทำงานต่างจังหวัดหลายคน ในปี ๒๕๒๔ คุณพรชัย วีระณรงค์ บรรณาธิการนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ในสมัยนั้นได้เปิดคอลัมน์ให้กลุ่มวรรณกรรมพินิจ ทำให้เกิดกลุ่มนักวิจารณ์ ชมัยภร แสงกระจ่าง ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ วิจารณ์หนังสือ พร้อมด้วย วิจักขณ์ ประกายเสน เวณุวัน ทองลา กรรแสง เกษมศานต์ ชีรณ คุปตะวัฒนะ เพียงทัศน์ พินทุสร คำดี เขมวนา เป็นต้น นับแต่นั้นมากลุ่มวรรณกรรมพินิจก็มีคอลัมน์วิจารณ์ประจำในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และมีไพลิน รุ้งรัตน์ เป็นผู้เขียนบทวิจารณ์เจ้าประจำ ส่วนคนอื่น ๆนั้น ๆ ค่อยเขียนน้อยลง ๆ และเลิกราไปในที่สุด

ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนบทวิจารณ์ระหว่างปี ๒๕๒๑ จนถึงปี ๒๕๓๘ (สิ้นสุดปีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อนิจกรรม และมีการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการบริหารนิตยสาร)) รวมระยะเวลาที่เขียนบทวิจารณ์ประมาณ ๑๗ ปี บทวิจารณ์ที่ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนมีมากกว่า ๕๐๐ ชิ้น ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์หนังสือเล่มในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีการรวมเล่มเพียงครั้งสองครั้งคือ ปรากฎการณ์แห่งกวี เป็นการรวมบทวิเคราะห์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย รวมเมื่อปี ๒๕๓๐ กับ วรรณพินิจ:กฤษณา อโศกสิน เป็นการรวมบทวิจารณ์ผลงานของกฤษณา อโศกสิน รวมเมื่อปี ๒๕๓๒ เล่มหลังได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือประจำปี ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
ส่วนผลงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการอ่านที่ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ และรวมเล่มก็คือบ้านหนังสือในหัวใจ อันเป็นบันทึกความทรงจำของนักอ่านเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่านมา ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน ประจำปี ๒๕๓๓ อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ...ที่รัก นวนิยายว่าด้วยเรื่องของนักอ่าน ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนเมื่อปี ๒๕๓๙
นับแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ชมัยภร แสงกระจ่างเขียนนวนิยายต่อเนื่องอย่างจริงจัง โดยเป็นนักเขียนนวนิยายประจำในนิตยสารสกุลไทย และนิตยสารขวัญเรือน หลังจากตีพิมพ์เป็นตอน ๆแล้วจึงรวมเล่ม ปัจจุบันมีนวนิยายรวมเล่มแล้ว ๓๐ เล่ม รวมผลงานที่รวมเล่มอื่น ๆ ด้วยแล้วประมาณ ๔๐ เล่ม ในปี ๒๕๔๖ ไพลิน รุ้งรัตน์ ได้เขียนสารคดี ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานของ “กฤษณา อโศกสิน” ในชื่อเล่มว่า แกะลายไม้หอม “กฤษณา อโศกสิน”

ผลงานเล่มล่าสุดของชมัยภร แสงกระจ่างคือ นวนิยาย รังนกบนปลายไม้ (สร้างเป็นละครช่อง 3 แล้ว กำลังรอออกอากาศ) และ วรรณกรรมเยาวชน เรื่อง คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์

ผลงาน
๒๕๑๖- ใบไม้แห่งนาคร (บทกวี) ร่วมกับคนอื่น ๆ
๒๕๑๙- วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน (บทวิจารณ์) ใช้นามปากกา"นศินิ วิทูธีรศานต์"ใช้ครั้งเดียวแล้วไม่ได้ใช้อีกเลย
๒๕๒๕- เส้นทางของแม่ (นวนิยายขนาดสั้น) ใช้นามปากกา "แสนดาว" (นามปากกานี้ใช้ครั้งเดียวเช่นกัน)
๒๕๓๐- ปรากฏการณ์แห่งกวี (บทวิจารณ์)
๒๕๓๑- ๗ วันคดีเครื่องราช ฯ(บันทึกชีวิตจริง)
๒๕๓๒- ญ หญิงอดทน (รวมเรื่องสั้น)
วรรณพินิจ กฤษณา อโศกสิน (บทวิจารณ์) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๓๓ ผู้หญิงนะ (รวมเรื่องสั้น)
บ้านหนังสือในหัวใจ (สารคดี) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
มิเหมือนแม้นอันใดเลย (บทกวี) รางวัลชมเชย ประเภทบทกวี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๓๔- บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย (วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ) สร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
หนึ่งในห้าร้อยเล่มหนังสือดีของสมาพันธ์องค์การเพื่อการพัฒนาหนังสือและการอ่าน
๒๕๓๖- หนูน้อยตัวหนังสือ (บทกวี)
๒๕๓๗- คนในบ้านหนังสือ (สารคดีเชิงวรรณศิลป์)
๒๕๓๘- นางสิงห์มอเตอร์ไซค์ (รวมเรื่องสั้น)
๒๕๓๙- อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ..ที่รัก (นวนิยายสำหรับนักอ่าน-ไพลิน รุ้งรัตน์) (รางวัลชมเชย
ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
บ้านไร่เรือนตะวัน (นวนิยาย) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ )
หน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า (นวนิยาย)(สร้างเป็นละครโทรทัศน์)
มุมดี ๆของชีวิต (เรื่องสั้น ๆ_ไพลิน รุ้งรัตน์)
๒๕๔๐- จากดวงตาดอกไม้ (นวนิยาย)
ตะวันขึ้นที่ภูพระบาท (นวนิยาย)
๒๕๔๑- อรุณในราตรี (รวมบทกวี)
จดหมายถึงดวงดาว (นวนิยาย) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ )
๒๕๔๒ - เช้าชื่น คืนฉาย (นวนิยาย)
บ้านนี้มีรัก ( วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
สู่ดวงใจแผ่นดิน (นวนิยาย)
ดั่งมีงานเริงรื่น (เรื่องสั้น)
๒๕๔๓- กระท่อมแสงเงิน (นวนิยาย)(สร้างเป็นละครโทรทัศน์)
พระอาทิตย์คืนแรม (นวนิยาย) (รางวัลชมเชย ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ
แห่งชาติ)
บ้านนี้มีหมากับแมว (นวนิยาย)
คุณปู่แว่นตาโต (วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลดีเด่น ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
ปากไก่ลายทอง (สารคดี)
ดอกไม้ในสายธาร (สารคดีธรรมะ)
๒๕๔๔- หมู่บ้านคนฝันดี (นวนิยาย)
มิ่งมิตรในสวนดอกไม้ (นวนิยาย)
ป้าจ๋า โก้ ติ๊ดตี่ น่ะจ้ะ (วรรณกรรมเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
วุ่นวายสบายดี (นวนิยาย) รอสร้างเป็นละครโทรทัศน์
โลกนี้น่ารัก (วรรณกรรมเยาวชน)
จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์นักสู้แห่งภูเขา (สารคดี)
๒๕๔๕- ส้มโอ น้าหมู หนูแมว (วรรณกรรมเยาวชน)
เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม (นวนิยาย)
ห้องนี้รื่นรมย์ (นวนิยาย)
แม่ลูกปลูกต้นไม้ (สารคดี) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ ปี
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๔๖- สวัสดีข้างถนน (วรรณกรรมเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ ปี
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
ฤดูร้อน...มีดอกไม้บาน (นวนิยาย)
แบ่งฟ้า ปันดิน (นวนิยาย)
แกะลายไม้หอม กฤษณา อโศกสิน (สารคดี)
๒๕๔๗- ริบบิ้นเขียวกับกล่องกระดาษแดง (นวนิยายเยาวชน) (สร้างละคร)
ยามบ่ายวันเสาร์ ยามเช้าวันอาทิตย์ (นวนิยาย)
ในสวนฝัน (รวมเรื่องสั้น) (รางวัลชมเชย ประเภทเรื่องสั้น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
แมวดำในสวนสีชมพู (นวนิยายเยาวชน)
๒๕๔๘- บานไม่รู้โรย (นวนิยาย)
ปุยนุ่นกับสำลี (นวนิยาย)
เด็กหญิงแห่งกลางคืน (นวนิยายเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๔๙ กุหลาบในสวนเล็ก ๆ
คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์
รังนกบนปลายไม้

Friday, December 1, 2006


งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2549

อลวนบนหลังคา