Monday, December 4, 2006

ประวัติชมัยภร แสงกระจ่าง


ชมัยภร แสงกระจ่าง
ไพลิน รุ้งรัตน์


ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เกิดเมื่อปี ๒๔๙๓ ที่จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาชั้นประถมและชั้นมัธยมต้นที่จังหวัดจันทบุรี แล้วจึงมาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท กรุงเทพฯ และสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๑ ในปี ๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

เป็นคนสนใจการอ่านมาแต่เยาว์วัย เพราะแม่เป็นครู พ่อชอบเขียนกลอน สนใจการอ่านทั้งคู่ ในบ้านมีหนังสือ
นวนิยายและสารคดีเป็นจำนวนมาก เมื่อเรียนชั้น ม.ศ.๓ ได้ครูภาษาไทยกระตุ้นเร้าการอ่านการเขียน ทำให้หัดเขียนเรื่องสั้นไปลงชัยพฤกษ์ เมื่อเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ สนใจกิจกรรมชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมวรรณศิลป์ เมื่อเรียนชั้นปีที่ ๔ และในปีเดียวกันนั้นได้เรียนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์กับอาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้ลงมือเขียนบทวิจารณ์ งานวิจารณ์ชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ในอนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ คือ บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นและบทกวีชื่อ ความเงียบ ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ต่อมาเมื่อเรียนจบหันมาสนใจการเขียนเรื่องสั้น เขียนไปลงสตรีสารได้สองสามเรื่อง อาจารย์ชลธิรา (สัตยาวัฒนา) กลัดอยู่ ก็ได้ชวนไปเขียนบทวิจารณ์ในนิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ ใช้ชื่อ ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนอยู่ประมาณ
๑ ปีก็เลิกเขียน ต่อมาได้ช่วยเขียนบทวิเคราะห์ให้ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ในการจัดนิทรรศการวรรณกรรมแนวประชาชน ในปี ๒๕๑๘ และผลงานนั้นได้รวมเล่มเป็น วรรณกรรมแนวประชาชน ใช้นามปากกาว่า นศินี วิทูธีรศานต์ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามใน ๑๐๖ รายการของคณะปฏิวัติ

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ประมาณปี ๒๕๒๑ สิทธิชัยและชมัยภร แสงกระจ่าง ได้จัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมพินิจขึ้น เป็นการรวมตัวของชาววรรณศิลป์ จุฬาฯ ประมาณ ๑๕ คน และได้มีการอ่านเรื่องสั้นและบทกวีในรอบปีที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ ในรอบปี และคัดเลือกขึ้นมาประกาศเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประจำปี คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยขอให้กลุ่มเขียนเป็นบทรายงานสั้น ๆ ลงนิตยสารโลกหนังสืออยู่ระยะหนึ่ง กลุ่มวรรณกรรมพินิจได้คัดเลือกเรื่องสั้นอยู่ ๒ ปี ก็เลิกรากันไปเพราะคนในกลุ่มออกไปทำงานต่างจังหวัดหลายคน ในปี ๒๕๒๔ คุณพรชัย วีระณรงค์ บรรณาธิการนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ในสมัยนั้นได้เปิดคอลัมน์ให้กลุ่มวรรณกรรมพินิจ ทำให้เกิดกลุ่มนักวิจารณ์ ชมัยภร แสงกระจ่าง ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ วิจารณ์หนังสือ พร้อมด้วย วิจักขณ์ ประกายเสน เวณุวัน ทองลา กรรแสง เกษมศานต์ ชีรณ คุปตะวัฒนะ เพียงทัศน์ พินทุสร คำดี เขมวนา เป็นต้น นับแต่นั้นมากลุ่มวรรณกรรมพินิจก็มีคอลัมน์วิจารณ์ประจำในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และมีไพลิน รุ้งรัตน์ เป็นผู้เขียนบทวิจารณ์เจ้าประจำ ส่วนคนอื่น ๆนั้น ๆ ค่อยเขียนน้อยลง ๆ และเลิกราไปในที่สุด

ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนบทวิจารณ์ระหว่างปี ๒๕๒๑ จนถึงปี ๒๕๓๘ (สิ้นสุดปีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อนิจกรรม และมีการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการบริหารนิตยสาร)) รวมระยะเวลาที่เขียนบทวิจารณ์ประมาณ ๑๗ ปี บทวิจารณ์ที่ไพลิน รุ้งรัตน์ เขียนมีมากกว่า ๕๐๐ ชิ้น ทั้งหมดเป็นการวิจารณ์หนังสือเล่มในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีการรวมเล่มเพียงครั้งสองครั้งคือ ปรากฎการณ์แห่งกวี เป็นการรวมบทวิเคราะห์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย รวมเมื่อปี ๒๕๓๐ กับ วรรณพินิจ:กฤษณา อโศกสิน เป็นการรวมบทวิจารณ์ผลงานของกฤษณา อโศกสิน รวมเมื่อปี ๒๕๓๒ เล่มหลังได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือประจำปี ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
ส่วนผลงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการอ่านที่ใช้นามปากกา ไพลิน รุ้งรัตน์ และรวมเล่มก็คือบ้านหนังสือในหัวใจ อันเป็นบันทึกความทรงจำของนักอ่านเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่านมา ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน ประจำปี ๒๕๓๓ อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ...ที่รัก นวนิยายว่าด้วยเรื่องของนักอ่าน ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนเมื่อปี ๒๕๓๙
นับแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ชมัยภร แสงกระจ่างเขียนนวนิยายต่อเนื่องอย่างจริงจัง โดยเป็นนักเขียนนวนิยายประจำในนิตยสารสกุลไทย และนิตยสารขวัญเรือน หลังจากตีพิมพ์เป็นตอน ๆแล้วจึงรวมเล่ม ปัจจุบันมีนวนิยายรวมเล่มแล้ว ๓๐ เล่ม รวมผลงานที่รวมเล่มอื่น ๆ ด้วยแล้วประมาณ ๔๐ เล่ม ในปี ๒๕๔๖ ไพลิน รุ้งรัตน์ ได้เขียนสารคดี ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานของ “กฤษณา อโศกสิน” ในชื่อเล่มว่า แกะลายไม้หอม “กฤษณา อโศกสิน”

ผลงานเล่มล่าสุดของชมัยภร แสงกระจ่างคือ นวนิยาย รังนกบนปลายไม้ (สร้างเป็นละครช่อง 3 แล้ว กำลังรอออกอากาศ) และ วรรณกรรมเยาวชน เรื่อง คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์

ผลงาน
๒๕๑๖- ใบไม้แห่งนาคร (บทกวี) ร่วมกับคนอื่น ๆ
๒๕๑๙- วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน (บทวิจารณ์) ใช้นามปากกา"นศินิ วิทูธีรศานต์"ใช้ครั้งเดียวแล้วไม่ได้ใช้อีกเลย
๒๕๒๕- เส้นทางของแม่ (นวนิยายขนาดสั้น) ใช้นามปากกา "แสนดาว" (นามปากกานี้ใช้ครั้งเดียวเช่นกัน)
๒๕๓๐- ปรากฏการณ์แห่งกวี (บทวิจารณ์)
๒๕๓๑- ๗ วันคดีเครื่องราช ฯ(บันทึกชีวิตจริง)
๒๕๓๒- ญ หญิงอดทน (รวมเรื่องสั้น)
วรรณพินิจ กฤษณา อโศกสิน (บทวิจารณ์) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๓๓ ผู้หญิงนะ (รวมเรื่องสั้น)
บ้านหนังสือในหัวใจ (สารคดี) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
มิเหมือนแม้นอันใดเลย (บทกวี) รางวัลชมเชย ประเภทบทกวี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๓๔- บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย (วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ) สร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
หนึ่งในห้าร้อยเล่มหนังสือดีของสมาพันธ์องค์การเพื่อการพัฒนาหนังสือและการอ่าน
๒๕๓๖- หนูน้อยตัวหนังสือ (บทกวี)
๒๕๓๗- คนในบ้านหนังสือ (สารคดีเชิงวรรณศิลป์)
๒๕๓๘- นางสิงห์มอเตอร์ไซค์ (รวมเรื่องสั้น)
๒๕๓๙- อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ..ที่รัก (นวนิยายสำหรับนักอ่าน-ไพลิน รุ้งรัตน์) (รางวัลชมเชย
ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
บ้านไร่เรือนตะวัน (นวนิยาย) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ )
หน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า (นวนิยาย)(สร้างเป็นละครโทรทัศน์)
มุมดี ๆของชีวิต (เรื่องสั้น ๆ_ไพลิน รุ้งรัตน์)
๒๕๔๐- จากดวงตาดอกไม้ (นวนิยาย)
ตะวันขึ้นที่ภูพระบาท (นวนิยาย)
๒๕๔๑- อรุณในราตรี (รวมบทกวี)
จดหมายถึงดวงดาว (นวนิยาย) (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ )
๒๕๔๒ - เช้าชื่น คืนฉาย (นวนิยาย)
บ้านนี้มีรัก ( วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
สู่ดวงใจแผ่นดิน (นวนิยาย)
ดั่งมีงานเริงรื่น (เรื่องสั้น)
๒๕๔๓- กระท่อมแสงเงิน (นวนิยาย)(สร้างเป็นละครโทรทัศน์)
พระอาทิตย์คืนแรม (นวนิยาย) (รางวัลชมเชย ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ
แห่งชาติ)
บ้านนี้มีหมากับแมว (นวนิยาย)
คุณปู่แว่นตาโต (วรรณกรรมเยาวชน)(รางวัลดีเด่น ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
ปากไก่ลายทอง (สารคดี)
ดอกไม้ในสายธาร (สารคดีธรรมะ)
๒๕๔๔- หมู่บ้านคนฝันดี (นวนิยาย)
มิ่งมิตรในสวนดอกไม้ (นวนิยาย)
ป้าจ๋า โก้ ติ๊ดตี่ น่ะจ้ะ (วรรณกรรมเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
วุ่นวายสบายดี (นวนิยาย) รอสร้างเป็นละครโทรทัศน์
โลกนี้น่ารัก (วรรณกรรมเยาวชน)
จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์นักสู้แห่งภูเขา (สารคดี)
๒๕๔๕- ส้มโอ น้าหมู หนูแมว (วรรณกรรมเยาวชน)
เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม (นวนิยาย)
ห้องนี้รื่นรมย์ (นวนิยาย)
แม่ลูกปลูกต้นไม้ (สารคดี) (รางวัลชมเชย ประเภทสารคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ ปี
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๔๖- สวัสดีข้างถนน (วรรณกรรมเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดี สำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘ ปี
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
ฤดูร้อน...มีดอกไม้บาน (นวนิยาย)
แบ่งฟ้า ปันดิน (นวนิยาย)
แกะลายไม้หอม กฤษณา อโศกสิน (สารคดี)
๒๕๔๗- ริบบิ้นเขียวกับกล่องกระดาษแดง (นวนิยายเยาวชน) (สร้างละคร)
ยามบ่ายวันเสาร์ ยามเช้าวันอาทิตย์ (นวนิยาย)
ในสวนฝัน (รวมเรื่องสั้น) (รางวัลชมเชย ประเภทเรื่องสั้น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
แมวดำในสวนสีชมพู (นวนิยายเยาวชน)
๒๕๔๘- บานไม่รู้โรย (นวนิยาย)
ปุยนุ่นกับสำลี (นวนิยาย)
เด็กหญิงแห่งกลางคืน (นวนิยายเยาวชน) (รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ ๑๔-๑๘
จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ)
๒๕๔๙ กุหลาบในสวนเล็ก ๆ
คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์
รังนกบนปลายไม้

2 comments:

chamaikorn said...

ดิฉันต้องการติดต่อกับคุณชมัยภร เนื่องจากต้องการให้ช่วยเขียนหนังสือค่ะ รบกวนติดต่อดิฉัน ชมัยกร เบญจาทิกุล ( ต่าย ) 089-449-4840

นิด said...

ขอบคุณค่ะที่สร้างผลงานมากระตุ้นความคิดอยู่เรื่อยๆ ได้อ่านกุหลาบในสวนเล็กๆจบใน 1 วัน เกิดความคิดมากมายและได้เข้าใจในภาคการทำ่ข่าว ในภาคนักการเมือง ในภาคของคนปกติ(ที่ปัจจุบันเป็นคนในภาคนี้ค่ะ) มากขึ้น มองอะไรได้กว้่างขึ้น อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้จังค่ะ หวังว่าจะได้พบอาจารย์อีกนะคะ